สนค.เผยการส่งออกไทยเดือน พ.ย. 2567 โต 8.2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 รับแรงหนุนจากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีเติบโต มั่นใจทั้งปี 2567 ส่งออกจะได้ 5.2% ทำนิวไฮการส่งออกครั้งที่ 2
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 8.2% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว ที่ 7.0% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก
ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ
ทำให้การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 5.1% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.9% อย่างไรก็ดี การส่งออกทั้งปี 2567 น่าจะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-2% หากการส่งออกเดือนธันวาคม 2567 นี้สามารถส่งออกได้ประมาณ 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกไทยทั้งปีขยายตัว 5.2% ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ และจะเป็นตัวเลขส่งออกที่ทำนิวไฮอีกครั้ง ซึ่งปี 2565 ส่งออกโต 5.7%
ขณะที่การนำเข้าของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 มีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยขาดดุล 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนภาพรวมการนำเข้า 11 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.7% ส่งผลให้ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าไทยจะขาดดุลโดยเป็นนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบ สัดส่วน 70% ซึ่งนำมาผลิตเพื่อการส่งออก
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 5.7% (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยสินค้าเกษตรขยายตัว 4.1% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 7.7% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพาราขยายตัว 14.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐ เกาหลีใต้ และตุรกี)
ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 12.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 44.8% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฮ่องกง)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 20.6% กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น แคนาดา และฝรั่งเศส แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน แอฟริกาใต้ แคเมอรูน และอังโกลา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัว 6.3% หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สหรัฐ อินเดีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์)
น้ำตาลทรายหดตัว 23.3% หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย จีน และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี แคนาดา และศรีลังกา) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 5.7%
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 9.5% (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 40.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 4.8% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม เม็กซิโก และอินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 24.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัว 34.3% หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอาร์เจนตินา แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐ กัมพูชา ไต้หวัน และบราซิล) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอดหดตัว 71.5% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และสาธารณเช็ก แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 5.5%
แนวโน้มการส่งออกปี 2568
แนวโน้มในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2-3% ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ด้วยการขับเคลื่อน 10 นโยบายยุทธศาสตร์การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ ไปจนถึงการเร่งผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ครอบคลุมพันธมิตรทางการค้าในทุกภูมิภาค ประกอบกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและรักษาการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะต่อไป